‘ยุง’ กัดสุนัข เป็นอะไรไหม?

13260 จำนวนผู้เข้าชม  | 

‘ยุง’ กัดสุนัข เป็นอะไรไหม?

ยุง’ กัดสุนัข เป็นอะไรไหม?

      

        ยุง นอกจากจะสร้างความรำคาญ เเถมปากแหลมๆ ยังทำให้คันเป็นรอยเเดงเเล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคอันตรายมาสู่น้องหมาของเรา อย่าง "โรคพยาธิหนอนหัวใจ" ด้วยค่ะ

 
โรคพยาธิหนอนหัวใจคืออะไร?

          โรคพยาธิหนอนหัวใจ หรือ “HEARTWORM” เป็นพยาธิที่อยู่ในกระแสเลือด พยาธิชนิดนี้สามารถติดต่อกันได้โดยผ่านยุงไปกัดสุนัขที่มีตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในกระแสเลือด เเล้วมากัดน้องหมาของเรา เมื่อยุงพาหะมากัดน้องหมา ก็จะปล่อยตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจออกมาด้วย หลังจากนั้นพยาธิตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน ในการเจริญเติบโตเเละเคลื่อนตัวตามระบบหมุนเวียนของเลือดจนโตเต็มวัยอยู่ในหัวใจห้องล่างด้านขวาผ่านเส้นเลือดใหญ่ที่จะส่งเลือดไปฟอกที่ปอด เเล้วเจ้าพยาธิตัวเต็มวัยก็จะสืบพันธุ์และออกลูกมากมายมาอยู่ในกระแสเลือดของสุนัขต่อไปค่ะ

อาการเบื้องต้นของสุนัขที่ป่วยเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ
 
      ความรุนแรงของโรคนี้จะขึ้นอยู่กับจำนวนของพยาธิหนอนหัวใจที่อาศัยอยู่ภายในหัวใจ และเส้นเลือดดำใหญ่ของสุนัข โดยอาการของสุนัขที่ป่วยเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจอาจพบตั้งแต่ในระยะไม่แสดงอาการ จนถึงขั้นระยะหัวใจล้มเหลวจนทำให้เสียชีวิตได้เลยค่ะ


อาการที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปจะคล้ายกับสุนัขที่เป็นโรคหัวใจ 

 การไอแห้งๆ เหนื่อยง่าย เป็นลม และท้องกางขยายใหญ่ (เนื่องจากมีน้ำสะสมอยู่ในช่องท้อง)

หากมีอาการดังนี้ ควรปรึกษาสัตวแพทย์โดยด่วนนะคะ

 

การตรวจวินิจฉัยโรค

       การตรวจโรคนี้ง่ายมากๆ  "เพียงตรวจเลือดก็ทราบผลเเล้ว" อาจใช้ชุดตรวจแอนติเจนต่อพยาธิหนอนหัวใจในกระแสเลือด หรือการเจาะเลือดมาตรวจหาพยาธิตัวอ่อนในกระแสเลือด


การรักษา

     "ตรวจง่ายเเต่การรักษานี่เเหละที่ยาก" โดยส่วนมากกว่าที่น้องหมาจะเเสดงอาการป่วย ก็ต่อเมื่อพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในหัวใจเเล้วค่ะ

  1. การรักษาทางยา

     สามารถทำได้โดยการฉีดยาฆ่าพยาธิตัวแก่ที่อาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือดของสุนัข วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้กันและสามารถทำได้ง่าย เเต่ต้องระวังเพราะเมื่อตัวพยาธิตาย ก็ไม่ได้สลายตัวไปเเละยังมีโอกาสอุดตันหัวใจเเละหลอดเลือดได้อยู่

  2. การรักษาทางศัลยกรรม

     การผ่าตัดนำตัวพยาธิหนอนหัวใจออกจากเส้นเลือดดำใหญ่ (สุนัขป่วยที่อยู่ในระยะรุนแรงและการผ่าตัดที่ต้องอาศัยความชำนาญมาก จึงพบเห็นการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจด้วยวิธีนี้ไม่บ่อยนัก)
จะเห็นได้ว่าการรักษาทั้งทางยาเเละผ่าตัดนั้นมีความเสี่ยง ในกรณีที่มีความเสี่ยงมาก สัตวแพทย์อาจให้การรักษาตามอาการของโรคหัวใจ เช่น การให้ยาลดความดัน ยาขับน้ำ เป็นต้นค่ะ


วิธีป้องกัน

สำหรับโรคนี้"การป้องกัน"เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่ายเเละปลอดภัยที่สุด

 1.  ลดจำนวนยุง : ในช่วงที่ฝนตกหนักในหลายๆ พื้นที่นั้น มีโอกาสที่จะเกิดน้ำขังได้ง่าย ส่งผลให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้อย่างดีเลยค่ะ ดังนั้นเราต้องหมั่นตรวจตราบริเวณบ้านว่ามีจุดใดที่เอื้อต่อการวางไข่ของยุงหรือไม่ เเละคอยดูแลให้น้องหมาอยู่ในบ้านที่ปิดมุ้งลวดมิดชิด หรืออาจจะอาศัยตัวช่วยด้วยยากันยุงที่ระบุว่าปลอดภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง เเต่การจะกำจัดยุงให้หมดไป คงเป็นไปได้ยากมากๆ ดังนั้นเราจึงต้องช่วยป้องกันตัวพยาธิหนอนหัวใจร่วมด้วย

 2.ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ : ในปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจมากมายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเเบบป้องกันพยาธิหนอนหัวใจอย่างเดียว หรือบางยี่ห้อจะรวมป้องกันพยาธิหนอนหัวใจเเละเห็บหมัดเข้ามาด้วย เพื่อให้เราได้สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการของเราค่ะ

●      ยาฉีด : ฉีดยาที่โรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกใกล้บ้านเป็นประจำ

●      ยากิน : ให้กินเป็นประจำทุกเดือน

●      ยาหยอดหลัง : หยดบริเวณหลังเป็นประจำทุกเดือน

 
รู้จักพยาธิหนอนหัวใจกันเเล้ว....มาทำความรู้จักวายร้ายอีกตัวหนึ่ง เจ้า "พยาธิเม็ดเลือด" กันดีกว่า >> ((คลิก))

……………….

บทความโดย...สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล



อ้างอิงข้อมูลจาก: https://www.akc.org/expert-advice/health/heartworm-in-dogs-symptoms-diagnosis-treatment/

Photo credit : freepik.,idexx

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้