Swimming-puppy syndrome (กลุ่มอาการขากางในลูกสุนัข)

7540 Views  | 

Swimming-puppy syndrome (กลุ่มอาการขากางในลูกสุนัข)

Swimming-puppy syndrome (กลุ่มอาการขากางในลูกสุนัข)


       หากลูกสุนัขของท่าน อายุ 3 สัปดาห์แล้ว ไม่สามารถลุกยืนหรือเดินได้ พยายามเคลื่อนที่โดยการดันตัวคล้ายเต่าว่ายน้ำ เหมือนกำลังหัดเดิน แต่ก็ไม่สามารถลุกเดินได้เสียที ลูกสุนัขของท่านอาจเป็น swimming-puppy syndrome หรือ กลุ่มอาการขากางในลูกสุนัข

          กลุ่มอาการนี้เป็นความผิดปกติในการเจริญเติบโตของโครงสร้าง ทำให้ลูกสุนัขขากางออกตลอดเวลา  ไม่สามารถงอขาได้  โดยพยายามใช้ขาคลานกระดึ๊บ ๆ ไปกับพื้น คล้ายกับกำลังว่ายน้ำ ซึ่งป็นที่มาของชื่อ “swimming-puppy syndrome” นั่นเอง

            โรคนี้มักพบความผิดปกติที่ขาหลังมากกว่าขาหน้า แต่บางตัวอาจเป็นทั้ง 4 ขา และหากโชคร้ายอาจพบการยุบตัวของช่องอกร่วมด้วย (อกแบน) ทำให้อวัยวะในช่องอกถูกกด ส่งผลให้ลูกสุนัขหายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้ค่ะ

         ความผิดปกตินี้พบได้ไม่บ่อยนัก และปัจจุบันก็ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่จากข้อมูลพบว่าความผิดปกตินี้ มักพบในลูกสุนัขสายพันธุ์ English bulldog, French bulldog , Dachshund ,Yorkshire, Pekingese และ Basset Hound ค่ะ  


การวินิจฉัยโรคและการรักษา

       โรคนี้หากปล่อยทิ้งไว้นานจนโครงสร้างกระดูกขาเกิดการผิดรูป จะทำให้การแก้ไขทำได้ยากลำบาก ดังนั้นหากสังเกตุเห็นว่าลูกสุนัขมีอาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบพามาพบสัตวแพทย์ทันที โดยอาจต้องใช้การถ่ายภาพรังสีเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และความผิดปกติของกระดูกส่วนต่างๆรวมถึงตัวช่องอกด้วยค่ะ

            เนื่องจากลูกสุนัขมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว โครงสร้างกระดูกมักจะยิ่งผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม การรักษามักจะต้องอาศัยการจัดการหลายๆด้านร่วมกัน คือ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่ในการเลี้ยงดู การจัดการด้านโภชนาการ การปรับโครงสร้าง และ การทำกายภาพบำบัด

1.การจัดการสิ่งแวดล้อม

- พื้นที่เลี้ยงดูต้องไม่ลื่น อาจปูพรมหรือพื้นกันลื่น  เพื่อให้ลูกสุนัขสามารถที่จะทรงตัวเองได้บ้าง

- ดูแลความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเป็นผื่นผิวหนังจากการนอนทับสิ่งขับถ่าย

2.การจัดการด้านโภชนาการ

- ให้อาหารสูตรลูกสุนัข เพื่อให้ได้สารอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโต

- แบ่งกินมื้อย่อย หลายๆมื้อ ทีละน้อยๆ  เพื่อลดโอกาสการสำลักอาหาร แต่ต้องควบคุมปริมาณอาหารไม่ให้มากเกินไป ถ้าลูกสุนัขอ้วนจะยิ่งยากต่อการลุกยืน

3.การปรับโครงสร้างและกายภาพบำบัด

-การพันขา (bandage)  จัดแนวขาให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมและ ใกล้เคียงกับท่าปกติมากที่สุด นอกจากนี้หากลูกสุนัขมีภาวะอกแบนร่วมด้วย อาจต้องพันเฝือกอ่อน บริเวณอก ป้องกันไม่ให้อกยุบตัวจนทำให้หายใจลำบาก

-การยืดหดขา (Passive range of motion) เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ ป้องกันไม่ให้ข้อยึดโดยทำทีละข้อๆละ 15 – 20ครั้ง เป็นประจำทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง (กายภาพบำบัดง่ายๆทำได้ที่บ้าน <<คลิก>>)

-การฝึกยืน แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ เช่น ผ้า กล่อง ในการช่วยพยุงตัวลูกสุนัข จัดท่าให้เท้า 4 ข้างของลูกสุนัขสัมผัสพื้น เป็นเวลา 1 นาที หรือหากเริ่มเดินได้มากขึ้น อาจให้น้องเดินบนรถเข็นก็ได้ค่ะ

-ธาราบำบัด  เป็นการออกกำลังกายที่ไม่เป็นอันตรายต่อข้อต่อจึงเหมาะสมกับลูกสุนัขที่มีความผิดปกตินี้มากๆ โดยแนะนำให้เริ่มทำในลูกสุนัขที่อายุ 2 เดือนขึ้นไป และขณะทำกิจกรรมจะต้องมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

   การว่ายน้ำ ช่วยรักษามวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  

   การเดินสายพานใต้น้ำ นอกจากจะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยในการฝึกการก้าวเดินด้วย

        กลุ่มอาการขากางในลูกสุนัข เป็นความผิดปกติที่สามารถทำให้ลูกสุนัขเสียชีวิตได้ แต่หากเจ้าของสังเกตพบได้เร็ว และลูกสุนัขได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ลุกสุนัขก็จะมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เหมือนกับน้องหมานักสู้ “เชลซี” English bulldog น้อย ที่โชคร้ายป่วยเป็นโรคนี้ แต่โชคดี....ที่เจ้าของสังเกตความผิดปกติและพามารักษาอย่างรวดเร็ว

          เชลซี...มาตรวจกับคุณหมอ น.สพ. นพกฤษณ์ จันทิก และ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น swimming-puppy syndrome โดยโครงสร้างขามีความผิดปกติทั้ง 4 ข้าง ร่วมกับมีภาวะอกแบน จึงต้องพันเฝือกอ่อนทั้งตัวอย่างที่เห็น...แต่เด็กน้อยเชลซีไม่เคยบ่น และคอยส่งยิ้มให้คุณหมอและพี่ๆ HOSPETAL ตลอดเลยค่ะ อ่านเรื่องราวของน้องเชลซีต่อได้ที่ >>>> "สวัสดีฮะ...ผมชื่อเชลซี"

………………………………………..

บทความโดย

สพ.ญ. อภิลักษณ์ มหัธนันท์ และ สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล



 

Photo credit: PRS Center, Thermiafoundation

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy