20678 Views |
รู้หรือไม่... สุนัขก็สามารถเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้เช่นเดียวกันกับเรา ซึ่งปัญหานี้ โดยส่วนมากมักจะพบในสุนัขแก่ ทำให้คุณภาพชีวิตของคุณตาและคุณยายสี่ขาที่บ้านลดน้อยลง อาจมี ปัญหาขากะเผลก ไม่มีแรง ลุกลำบาก ควบคุมปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ จนถึงขั้นอัมพาตเลยทีเดียว.....เราจะช่วยรักษาเค้าได้อย่างไร....ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับโรคนี้กันก่อนค่ะ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือ หมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง (Intervertebral disk disease ; IVDD)
หมอนรองกระดูก เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างข้อต่อของกระดูกสันหลัง มีหน้าที่ลดแรงกระแทกของกระดูกสันหลังขณะที่สุนัขเคลื่อนไหวร่างกาย หากหมอนรองกระดูกสันหลังยื่นเข้ามาในช่องไขสันหลังก็จะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท และทำให้มีอาการปวด จนอาจเป็นอัมพาตได้ เราจะเรียกภาวะนี้ว่า "ภาวะหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง"
ปัญหานี้พบได้บ่อยในสุนัข โดยอาการของโรคจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการกดเบียด และความรุนแรงของโรค อาการแรก ๆ ที่เจ้าของมักสังเกตุเห็นได้ คือ สุนัขเคลื่อนไหวน้อยลง กินอาหารลดลง มีอาการร้องเจ็บเวลาเคลื่อนไหว ขาอ่อนแรง ตำแหน่งในการวางเท้าผิดปกติ หรือ เดินไม่ได้
ภาวะหมอนรองกระดูกทับไขสันหลังนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด
ชนิดที่ 1 เกิดการแตกของหมอนรองกระดูก จากแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวหนักๆ หรืออุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน มักพบในสุนัขอายุน้อย โดยเฉพาะในสุนัขสายพันธุ์ที่มีขาสั้นและมีสันหลังยาว (chondrodystrophic breed) เช่น ดัชชุน ชิสุห์ ปักกิ่ง เป็นต้น
ชนิดที่2 เป็นการยื่นของหมอนรองกระดูกเข้าไปกดทับไขสันหลังแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงมักพบในสุนัขแก่ และพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่มากกว่าพันธุ์เล็ก
การรักษาภาวะหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง มี 2 แนวทางหลัก ๆ คือ
1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด ประกอบด้วยการรักษาทางยาลดการอักเสบบวมของไขสันหลัง การจำกัดบริเวณ และการกายภาพบำบัด ซึ่งแนวทางการรักษานี้เหมาะสำหรับสุนัขที่แสดงอาการครั้งแรก และอาการไม่รุนแรงนัก (อ่านการทำกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยง <<คลิก>>)
2. การรักษาโดยการผ่าตัด เป็นการผ่าเอาหมอนรองกระดูกที่กดตัวไขสันหลังออก มักทำในกรณีที่การรักษาอื่นๆไม่ได้ผล หลังการผ่าตัดเจ้าของต้องหมั่นทำกายภาพบำบัดน้องหมา เพื่อช่วยฟื้นฟูให้สุนัขกลับมาใช้ขาได้เร็วขึ้น
โดยการตอบสนองต่อการรักษานี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค สุนัขที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลังในระดับไม่รุนแรงมากนักมักจะสามารถกลับมามีความรู้สึกที่ขาและเดินได้อีกครั้ง ยิ่งมารับการรักษาได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสในการฟื้นตัวได้ดีขึ้นเท่านั้นค่ะ
..........................................................
บทความโดย....สพ.ญ. อภิลักษณ์ มหัธนันท์
Photo credit : wikiHow, WilleeCole Photography / Shutterstockr, MissionVet