"เกาหู หูเหม็น ขี้หูดำ หูบวม" ปัญหาหูๆ ของสุนัขและแมว

63572 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"เกาหู หูเหม็น ขี้หูดำ หูบวม" ปัญหาหูๆ ของสุนัขและแมว

“เกาหู หูเหม็น ขี้หูดำ หูบวม” ปัญหาหูๆ ของสุนัขและแมว ที่ไม่หมูนัก


          เจ้าของน้องหมาน้องแมวหลายๆท่าน น่าจะเคยประสบปัญหาเรื่อง “หูหู” ของเจ้าสี่ขากันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะน้องหมาหูตก เช่น  โกลเด้น รีทรีฟเวอร์, ลาบราดอร์, ชิสุห์ และ บีเกิล รวมถึงน้องหมานักว่ายน้ำ ที่มักจะมีปัญหาหูอักเสบอยู่บ่อยๆ จนชาวต่างชาติมีการตั้งชื่อโรคนี้ว่า “swimmer’s ear” เลยทีเดียวค่ะ
         

      ช่องหูของสุนัขและแมวจะมีลักษณะเป็นท่อรูปตัวแอล ( L ) ซึ่งจะแตกต่างจากของคนที่เป็นท่อตรง ดังนั้นจึงจะทำความสะอาดได้ยากกว่า และ มักมีการสะสมของขี้หูที่บริเวณฐานของตัวแอล เมื่อบวกกับปัจจัยอื่นๆ เช่น หูตก อากาศชื้น ชอบเล่นน้ำ หรือ แม้แต่ปัจจัยจากตัวสัตว์เลี้ยงเอง เช่น มีก้อนเนื้อในช่องหู ความผิดปกติทางฮอร์โมน หรือ เป็นโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง ก็จะเริ่มเป็นโรค “หูชั้นนอกอักเสบ (ototitis externa)” ตามมาค่ะ



         อาการเบื้องต้นเมื่อสุนัขและแมวเป็นโรคหูอักเสบ คือ คัน เกา สะบัดหูตลอดเวลา ขี้หูเปลี่ยนสี และ มีกลิ่นเหม็น โดยมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ หรือ ไรในหู (คลิกอ่านบทความ...ไรในหู)ร่วมด้วย ในบางครั้งหากสัตว์เลี้ยงเกา หรือ สะบัดหูมาก จะทำให้หลอดเลือดฝอยที่ใบหูแตก มีการคั่งของเลือดในใบหู (Aural hematoma) และหูบวม หรือหากมีการอักเสบรุนแรง จนทำให้เยื้อแก้วหูขาด เกิดการติดเชื้อในช่องหูชั้นกลาง ก็จะส่งผลต่อการทรงตัว มีอาการหัวเอียง หรือ เดินวนค่ะ...ทีนี้ เรื่องของหู ก็จะไม่หมูแล้วนะคะ




         การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการเก็บขี้หูไปส่งตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ เป็นเชื้อชนิดใดเพื่อที่จะเลือกยาที่ใช้ในการรักษาได้อย่างถูกต้อง และ ในบางครั้งอาจต้องส่องกล้องตรวจช่องหู (Otoscope) ส่องดูโครงสร้างของช่องหู ตรวจหาสิ่งแปลกปลอม หรือเนื้องอกต่าง ๆ ที่อาจอยู่ข้างในรูหูค่ะ


         การรักษา เบื้องต้นมักใช้ยาหยอดหู โดยเลือกใช้ตามเชื้อโรคที่พบจากการเก็บขี้หูไปตรวจ เพื่อป้องกันการใช้ยาหยอดหูไม่ถูกโรค นอกจากจะไม่หายแล้ว ยังมีโอกาสทำให้เชื้อดื้อยาด้วย และยาบางชนิดจะมีข้อห้ามใช้ในรายที่เยื้อแก้วหูขาด ดังนั้นเพื่อความแน่ใจ หากสงสัยว่าเจ้าสี่ขาที่บ้านเป็นโรคหูอักเสบหรือไม่ แนะนำให้พามาหาหมอนะคะ
        
       ในกรณีที่มีการอักเสบมาก จนหูบวม จะต้องเจาะเพื่อเอาเลือดที่คั่งออก และ พันกดใบหูไว้ เมื่อพันเสร็จเจ้าของก็จะเริ่มขำว่าเหมือนน้องใส่หมวกกันน็อคเลยค่ะ โดยมักให้ยาปฏิชีวนะและยาลดอักเสบร่วมด้วย หากใช้วิธีนี้ไม่ได้ผลการผ่าตัดก็อาจเป็นสิ่งจำเป็น 
 
ดูตัวอย่างการรักษาสุนัข "คุณป้าซีลอน กับหูบวมๆของเธอ" <<คลิก>>



 
       แน่นอนว่า การป้องกันย่อมดีกว่า ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด ก็คือ การทำความสะอาดหูเป็นประจำ โดยทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง มีขั้นตอนดังนี้

1.  ถอนขนหู สุนัขขนยาว เช่น พุดเดิ้ล มอลทีส ชเนาเซอร์ หรือ ชิสุห์ มักจะมีขนหูยาว เราจะต้องถอนขนหูให้ หากปล่อยทิ้งไว้รุงรังจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี ส่วนน้องหมาขนสั้น ส่วนมากมักจะไม่ต้องถอนค่ะ

2.  ใช้น้ำยาทำความสะอาดหูของสัตว์เลี้ยง เทลงในช่องหู แล้วคลึงที่กระดูกอ่อนฐานใบหู 20-30 วินาที เพื่อสลายขี้หูให้หลุดลอยออกมา ที่ต้องทำแบบนี้เป็นเพราะว่า ขี้หูชอบไปสะสมตรงมุมรูปตัว L ของช่องหู ยิ่งใช้ไม้พันสำลีล้วงเข้าไปเช็ด ก็จะยิ่งดันขี้หูเข้าไปลึกมากขึ้น และ อาจทำให้เกิดแผลในช่องหูได้ จึงไม่แนะนำให้เจ้าของทำเองที่บ้าน
 
3.  ใช้สำลีซับน้ำยาออก หรือ ปล่อยให้น้องหมาน้องแมวสะบัดออกเอง และ ทำซ้ำจนกว่าจะสะอาด
 
4.  ใช้สำลีหรือคอตตอนบัดเช็ดขี้หูที่ติดอยู่ตามร่องหูให้สะอาด

       แค่นี้ก็เสร็จแล้ว สำหรับ 4 ขั้นตอนเช็ดหูง่ายๆ เพียงแต่การบังคับน้องหมาน้องแมวอาจจะไม่ง่ายนัก บางตัวกว่าจะล้างได้กันที เรียกได้ว่าแทบจะใช้คนทั้งบ้าน....แนะนำให้ฝึกล้างหูกันตั้งแต่เด็กๆ ค่อยๆทำไม่ให้เจ็บ หรือ ตื่นกลัว และ อาจจะต้องมีรางวัลให้กันบ้างเล็กน้อย เพื่อสร้างการเรียนรู้และความทรงจำที่ดีค่ะ
 
.................................................................
บทความโดย....สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล



ขอบคุณภาพจาก: dogsnaturallymagazine.com, http://animalia-life.club และ msdvetmanual

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้