56610 จำนวนผู้เข้าชม |
“เชื้อราแมว” โรคผิวหนังที่เหล่าทาสต้องรู้
หลายๆท่าน โดยเฉพาะทาสแมวทั้งหลาย น่าจะเคยได้ยินข่าวของคนเลี้ยงแมวที่ติดเชื้อราจากเจ้านายกันมาบ้างแล้ว และคงทราบแล้วว่าโรคเชื้อราแมวสามารถติดต่อสู่คนได้ ทำให้เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ...แล้วเราจะทราบได้อย่างไร ว่าแมวเราเป็นเชื้อราหรือไม่? มีวิธีการรักษาและดูแลอย่างไร...พบคำตอบได้ในบทความนี้ค่ะ
จริงๆ แล้ว เชื้อราแมว ไม่ได้พบแค่ในเจ้าเหมียวเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ทั้งในสุนัข กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ และสัตว์เลี้ยงขนยาวประเภทอื่นๆด้วย แต่ที่เราเรียกกันว่าเชื้อราแมว นั่นก็เป็นเพราะว่า โรคนี้มักพบในแมวมากกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆค่ะ โดยเฉพาะแมวขนยาว เช่น เปอร์เซีย หรือ เมนคูน เป็นต้น นอกจากนี้เชื้อราก็ยังมีอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น Microsporum gypseum, Microsporum canis หรือ Trichophyton mentagrophyte แต่สามารถเรียกรวมๆได้ว่าเป็น เชื้อราที่ก่อโรคบนผิวหนัง (Dermatophytosis) ในคนเรียกว่า โรคกลาก (ringworm)
ในสัตว์เลี้ยงที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติ เราจะสามารถพบเชื้อราได้บนตัวได้โดยไม่ก่อให้เกิดรอยโรค แต่หากเป็นสัตว์เลี้ยงที่อายุน้อย หรือ สูงวัย ป่วย หรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เจ้าเชื้อราพวกนี้ก็จะก่อให้เกิดโรค และเป็นรอยโรคขึ้นมาค่ะ ซึ่งรอยโรคหลักๆที่สามารถพบได้คือ ขนร่วง มีขุยรอบๆ เป็นวงๆ และขยายเป็นวงกว้างขึ้นหากไม่ได้รับการรักษา และส่วนมากมักมีอาการคันร่วมด้วย อาการดังกล่าวก็พบในคนที่ติดเชื้อราเช่นกัน โดยเจ้าของสามารถติดเชื้อผ่านการสัมผัส กอด หอม อุ้ม ลูบ และ ฟัดด้วยความรักค่ะ
การวินิจฉัย โรคเชื้อรา ได้แก่ การเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณรอยโรคไปตรวจส่องหาสปอร์ของเชื้อราด้วยกล้องจุลทรรศน์ การส่องตรวจด้วยไฟ Wood lamp ซึ่งจะต้องทำให้ห้องมืด หากมีการติดเชื้อรา บนตัวของสัตว์เลี้ยงก็จะมีการเรืองแสงเป็นสีเขียวขึ้นมาค่ะ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 วิธีไม่สามารถบอกได้ 100% ว่าหากตรวจไม่พบแล้วแสดงว่าไม่ได้ติดเชื้อราแน่ๆ....แต่วิธีที่แม่นยำที่สุดก็คือการ “เพาะเชื้อรา” ค่ะ โดยสัตวแพทย์จะนำเส้นขนหรือสะเก็ดบริเวณรอยโรคไปเพาะบนอาหารเลี้ยงเชื้อรา ภายใน 7-14 วัน หากมีเชื้อราขึ้นเป็นสีขาว และ อาหารเลี้ยงเชื้อเปลี่ยนสีเป็นสีแดงแล้วนั้น หมายความว่า เจ้าสี่ขาติดเชื้อราแน่นอนค่ะ...คอนเฟริม!!!
เมื่อรู้แล้วว่าติดเชื้อราแน่ๆ จะรักษาอย่างไร? โรคนี้จริงๆแล้วหายได้เองด้วยนะ หากสัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่กว่าจะหายต้องใช้เวลาถึง 10-16 สัปดาห์เลยทีเดียว ดังนั้นการรักษาก็จะสามารถช่วยลดระยะเวลาได้ไปมากทีเดียว....วิธีการรักษาเชื้อรา ประกอบด้วย
1. การใช้ยาทาเฉพาะที่ หรือ แชมพูขจัดเชื้อรา ซึ่งในระยะแรก หรือ สัตว์เลี้ยงมีรอยโรคเฉพาะจุด เรามักจะแนะนำให้ใช้วิธีนี้ค่ะ เนื่องจากไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยาในรูปแบบกิน
2. ยาทานฆ่าเชื้อรา มักจะใช้ในรายที่มีอาการรุนแรง เป็นทั่วทั้งตัว หรือ ใช้วิธีแรกแล้วไม่ได้ผล แม้ในปัจจุบันยาฆ่าเชื้อราจะมีผลข้างเคียงน้อยลงมากแล้วเมื่อเทียบกับสมัยก่อน แต่บางครั้งสัตวแพทย์อาจขอตรวจเลือดดูก่อนซักนิดก่อนที่จะให้ยาในรูปแบบนี้ค่ะ
3. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราบริเวณสิ่งเเวดล้อม กำจัดเชื้อที่อยู่บริเวณที่เลี้ยงดู เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
4. ข้อนี้สำคัญมากๆ...หากเรามีสัตว์เลี้ยงมากกว่า 1 ตัว ควรพาสัตว์เลี้ยงทั้งหมดมาตรวจว่าติดเชื้อราด้วยหรือไม่ค่ะ อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าสัตว์เลี้ยงบางตัวติดแล้วไม่แสดงอาการ แต่ก็ยังเป็น “พาหะ” ที่จะทำให้เชื้อราในบ้านไม่หมดซักที ดังนั้นต้องรักษาสัตว์เลี้ยงทุกตัว (รวมถึงคนเราเองด้วยนะ) ไปพร้อมๆกันค่ะ
แม้ว่าโรคนี้จะติดคน แต่ก็ไม่ต้องถึงขั้นกลัวไม่แตะเนื้อต้องตัว ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเหงากันนะคะ เพราะในคน เชื้อรานี้ก็จะก่อโรคในคนที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเช่นกัน หากไม่ใช่เด็กเล็ก คนสูงวัย หรือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็ยังสามารถแสดงความรักกันได้ แต่ต้องล้างมือ ล้างตัว หรือ ถ้าเล่นกันเมามันมาก อาจจะต้องซักเสื้อผ้าให้สะอาด หลังจากเล่นกันเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ
ดูเเลเรื่องขนเเล้ว...อย่าลืมดูเเลหูด้วยนะคะ อ่านบทความ "ไรในหู...ตัวการขี้หูดำ <<คลิก>> "
.....................................................
บทความโดย สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล
ขอบคุณข้อมูลจาก vet.chula
Photo credit: Colorado animal rescue, sensor health vet และ the pets master