106862 จำนวนผู้เข้าชม |
“กล้ามเนื้ออ่อนแรง...เมื่อน้องหมาน้องแมวเคลื่อนไหวไม่ได้ดั่งใจต้องการ”
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis ; MG) เกิดจากความผิดปกติของตัวรับสัญญาณประสาทที่อยู่ระหว่างปลายประสาทกับกล้ามเนื้อ ทำให้การส่งผ่านกระแสประสาททำได้ไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัว ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมา เดินได้ 2-3 ก้าวก็ต้องนั่งพักแล้ว การก้าวเดินและการเคลื่อนไหวต่างๆ จึงไม่เป็นไปอย่างที่ใจต้องการ โรคนี้พบได้ทั้งในสุนัขและแมว แต่จะพบในสุนัขมากกว่าค่ะ
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด และ กลุ่มที่เกิดความผิดปกติขึ้นภายหลัง
1. กลุ่มที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด คือ สัตว์เลี้ยงมีจำนวนตัวรับสัญญาณประสาทน้อยกว่าปกติมาตั้งแต่เกิด แม้ในช่วงแรกเกิดจะมีน้ำหนักตัวและแข็งแรงปกติ แต่อาการจะเริ่มแสดงที่อายุ 5 -8 สัปดาห์ และแย่ลงเรื่อยๆจนอายุประมาณ 30 สัปดาห์อาการจะคงที่ ความผิดปกติแบบนี้มักพบในสุนัขสายพันธุ์ แจ๊ค รัสเซล, สปริงเกอร์ สเปเนียล, สมูธ ฟ็อกซ์ เทอร์เรีย และ ดัชชุนขนาดเล็ก ส่วนในแมวมักพบในแมวพันธุ์ผสม และแมววิเชียรมาศค่ะ
2. กลุ่มที่เกิดความผิดปกติขึ้นภายหลัง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้ภูมิคุ้มกันไปทำลายตัวรับสัญญาณประสาท ซึ่งมักพบในสุนัขอายุ 3 ปี และ 10 ปี ในสายพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์, ลาบราดอร์ รีทีฟเวอร์, อคิตะ, ดัชชุนขนาดเล็ก, สก็อตติช เทอร์เรีย, เยอรมัน พอยน์เตอร์ ขนสั้น, เชทแลนด์ ชีพด็อก และคอลลี่ ส่วนในแมวพบบ่อยที่อายุ 2-3 ปี และ 9-10ปี ในสายพันธุ์ผสม, อะบิสซิเนียน, โซมาลี, แมววิเชียรมาศ, แมงซ์, หิมาลายัน และเปอร์เซีย
น้องหมาน้องแมวที่เป็นโรคนี้ มักแสดงอาการขาอ่อนแรง แม้ออกกำลังกายหรือก้าวเดินเพียงเล็กน้อย ก็เกิดอาการล้าของกล้ามเนื้อแล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในขาทั้ง 4 ข้าง หรือเฉพาะ 2 ขาหลังก็ได้ และเมื่อได้พักสักครู่ก็จะกลับมามีแรงเดินได้ใหม่ แต่ผ่านไปสักระยะอาการอ่อนแรงจะกลับมาอีก เป็นๆหายๆ บางครั้งจึงจะเห็นว่า มีอาการเดินๆหยุดๆไปเรื่อยๆ กว่าจะเดินไปถึงที่หมาย..ก็ใช้เวลานานทีเดียวค่ะ
นอกจากกล้ามเนื้อส่วนขาแล้ว ความผิดปกตินี้ ยังสามารถเกิดที่กล้ามเนื้ออื่นๆได้ด้วย เช่น กล้ามเนื้อคอหอยจะทำให้มีอาการกลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน หรือ ถ้าเกิดความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหลอดอาหาร (พบได้บ่อยในสุนัข) จะเกิดภาวะหลอดอาหารขยายใหญ่ ทำให้สำรอกอาหาร หรือน้ำหลังกิน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ปอดติดเชื้อแทรกซ้อนจากการสำลักอาหารได้ค่ะ
น้องแมวบองบอง มีอาการขาหลังอ่อนแรง เดิน2-3 ก้าวแล้ว ต้องหยุดพัก
วิธีการวินิจฉัยที่จะบอกว่าสุนัข และแมวเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ได้แก่
1. การตรวจระดับแอนตี้บอดี้ต่อตัวรับสัญญาณประสาทในเลือด (anti-AChR antibody titre)
2. การตรวจด้วยวิธีฉีดสารเทนซิลอน (Tensilon test) เข้าทางเส้นเลือดดํา สารเทนซิลอนมีฤทธิ์ลดการกําจัดสารสื่อประสาทที่รอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ จึงทำให้สัตว์ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนทันทีหลังฉีด แต่ก็สามารถออกฤทธิ์ในช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น
3. การตรวจโดยเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyogram; EMG) เป็นเครื่องตรวจการนํากระแสประสาทจากเส้นประสาทสู่กล้ามเนื้อ ซึ่งวิธีนี้เป็นการวินิจฉัยที่มีความไวสูง แต่ต้องอาศัยอุปกรณ์เฉพาะ และสัตว์ป่วยต้องวางยาซึม
4. การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy)
การรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง จะรักษาด้วยการให้ยาค่ะ ได้แก่ การให้ยาลดการทำลายสารสื่อประสาท และหรือ ยากดภูมิคุ้มกัน นอกจากการให้ยากลุ่มเหล่านี้แล้วอาจต้องมีการรักษา หรือการดูแลอื่นๆเพิ่มเติม ในกรณีที่มีโรคแทรกซ้อนด้วย ตัวอย่างเช่น สุนัขที่มีภาวะหลอดอาหารขยายใหญ่ ต้องกินอาหารทีละน้อย หลายๆมื้อ และต้องให้สุนัขนั่งหลังกิน 20 – 30นาที เพื่อป้องกันการสำรอกอาหาร หรือในรายที่มีปอดติดเชื้อแทรกซ้อนจากการสำลักอาหาร ก็ต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
บองบอง ภายหลังการตรวจกับคุณหมออาร์ต (น.สพ.ณัฐณัฏฐ์ อินทรพิทักษ์) ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” และได้รับยารักษา
โรคนี้ในสุนัขที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถกลับมาเป็นปกติได้หลังได้รับการรักษา ซึ่งแตกต่างจากในแมวที่ส่วนใหญ่ต้องได้รับยาตลอดชีวิตค่ะ
สิ่งที่ต้องระวังเมื่อสงสัยว่าสุนัขหรือแมวป่วยเป็นโรคนี้
1. การรักษาจะทำเมื่อได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นโรคนี้เท่านั้น
2. ยาบางชนิดมีผลต่อการส่งสัญาณประสาท หากให้ไม่ถูกโรคจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนให้ยาทุกครั้งนะคะ
..........................................................................
บทความโดย....สพ.ญ. อภิลักษณ์ มหัธนันท์
อ้างอิง vin.com, vetspecialists.co.uk, dvm360.com
Photo credit: Mayo Clinic