14522 จำนวนผู้เข้าชม |
ไรในหู (Ear mites)
ไรในหู (Otodectes cynotis; ear mite) เป็นแมลงที่ใช้ชีวิตแบบปรสิตบนตัวสัตว์เลี้ยง โดยส่วนมากจะอาศัยในช่องหู พบได้ทั้งในสุนัขและแมว แต่จะพบในแมวบ่อยกว่า โดยเฉพาะในลูกแมว และแมวที่เลี้ยงนอกบ้าน ไรในหูสามารถติดต่อกันผ่านการสัมผัสกันโดยตรง หรือผ่านสิ่งของต่างๆ ทำให้การติดต่อระหว่างสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นได้ง่ายมาก อย่างไรก็ตามเจ้าไรตัวนี้ไม่ติดต่อสู่คนค่ะ แต่ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเป็นผื่นแดงขึ้นมาได้
ไรในหูมีชีวิตได้นาน 2 เดือน โดยอาศัยเศษขี้หูและน้ำมันจากผิวหนังในช่องหูเป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงที่ติดไรในหูจะเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ในช่องหู ทำให้มีขี้หูเหนียวๆเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ มีอาการคันหูมาก เกาหู หรือสะบัดหัวอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเกาอย่างรุนแรงจนเส้นเลือดฝอยที่ใบหูแตกก็อาจพบใบหูคั่งเลือด (Aural hematoma) หรือการติดเชื้อแทรกซ้อนในช่องหูหรือผิวหนังรอบๆใบหูตามมา ที่น่ากลัวคือหากหูอักเสบถึงขั้นแก้วหูทะลุไปยังหูชั้นใน อาจส่งผลไปถึงระบบประสาทด้านการทรงตัว ทำให้เดินหัวเอียง คอบิด หรือ เดินวนได้ค่ะ
การตรวจวินิจฉัยโรคนี้ทำได้ไม่ยาก แม้เจ้าไรพวกนี้จะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นจุดเล็กๆสีขาวๆแต่ก็ยังถือว่ามีขนาดจิ๋วมากๆ ดังนั้นเพื่อวินิจฉัยยืนยันควรนำขี้หูของสัตว์เลี้ยงไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หากติดเชื้อจริง ก็จะพบเจ้าตัวไรดิ้นดุ๊กดิ๊กอยู่เต็มไปหมดเลยค่ะ
ปัจจุบันการรักษาไรในหู มีหลายวิธี ได้แก่ การหยอดยาหู การหยดหลัง และการกินยากำจัดปรสิตภายนอกและภายใน ซึ่งไรที่อยู่บนตัวของสัตว์เลี้ยงมักจะตายอย่างรวดเร็วภายหลังการรักษา แต่ต้องไม่ลืมทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น พรมเช็ดเท้า ผ้าปูที่นอน หรืออุปกรณ์ต่างๆของสัตว์เลี้ยงที่เจ้าไรอาจจะหลบซ่อนอยู่ รวมถึงต้องมีการรักษาหรือป้องกันสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆในบ้านไปพร้อมๆกันด้วยค่ะ เพราเมื่อมีหนึ่งตัวที่ติดไรในหู ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่น้องหมาน้องแมวตัวอื่น ๆ ที่เลี้ยงไว้ทั้งหมดจะติดด้วยค่ะ
การรักษาความสะอาดใบหูของน้องหมาและน้องแมวก็มีความสำคัญอย่างมาก นอกจากจะช่วยลดปริมาณเชื้อลงแล้ว ยังลดโอกาสเกิดปัญหาหรือการติดเชื้อที่ซ้ำในอนาคตได้ด้วย โดยแนะนำให้ใช้น้ำยาเช็ดหูสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ หลีกเลี่ยงการเช็ดน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ เพราะอาจยังหลงเหลือความชื้นอยู่ภายในช่องหู เป็นสาเหตุให้เชื้อโรคที่ชอบความชื้น เช่น แบคทีเรีย หรือ ยีสต์เจริญเติบโตก่อปัญหาตามขึ้นมาได้ค่ะ
เเล้วถ้าหากอาการหูเหม็น หรือ ขี้หูดำนี้ ไม่ได้เกิดจากอะไรได้อีกนะ >> อ่านบทความ "หูอักเสบ" ปัญหาหูๆที่ไม่หมูนัก <<คลิก>>
...........................................................
บทความโดย สพ.ญ. อภิลักษณ์ มหัธนันท์
Photo credit: Veterinary Parasitology. perthcathospital